a

บทความและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยโครงการศึกษาความสามารถในการแข่งขันธุรกิจและอุตสาหกรรมการทดสอบดาวเทียมของประเทศไทยกับภูมิภาคอาเซียน

ปี 2562 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ได้ร่วมกับ นิด้า ศึกษาอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศในประเทศไทย ในเวลานั้นพบว่าประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง มากกว่า 35,600 กิจการ สามารถสร้างรายได้ กว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 29,701 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 300-400 อาชีพ มีจำนวนแรงงานกว่า 3.6 หมื่นคน และมีแนวโน้มและทิศทางที่จะเติบโตสูงในอนาคต ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อย่างสิงคโปร์มีขนาดอุตสาหกรรมการบินและอวกาศสูงถึง 11.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ปี 2562) มีการจ้างงานมากกว่า 22,000 ตำแหน่ง และประเทศมาเลเซียมี มูลค่าเศรษฐกิจเท่ากับ 25.7 พันล้านริงกิต และมีการจ้างงานประมาณ 27,500 ตำแหน่ง

ในปีนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ GISTDA ทำโครงการศึกษาความสามารถในการแข่งขันธุรกิจและอุตสาหกรรมการทดสอบดาวเทียมของประเทศไทยกับภูมิภาค ปรากฏว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการทดสอบดาวเทียม ที่ทัดเทียมกับของมาเลเซียและอินโดนีเซียทั้งในเรื่องของมาตรฐานและประสิทธิภาพในการทดสอบ ชิ้นส่วนอากาศยานและดาวเทียม โดยดัชนี Aerospace Manufacturing Attractivenes หรือ AMA คือดัชนีที่สะท้อนความน่าดึงดูดใจให้ผู้คนไปลงทุนสร้างงานสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โดยดัชนีนี้จะประเมินและเปรียบเทียบจุดแข็งใน 7 มิติ กล่าวคือ 1.มิติต้นทุน (Cost), 2. มิติแรงงาน (Labour), 3. มิติโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure), 4. มิติอุตสาหกรรม (Industry), 5.มิติเศรษฐกิจ (Economy) 6. มิติทางภูมิรัฐศาสตร์ และ 7. มิตินโยบายภาษี (Tax Policy)
จากการวิเคราะห์ AMA index ระหว่างประเทศต่างๆจำนวน 100 ประเทศ หรือระหว่างมลรัฐต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2563 (2020) พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 โดยมีจุดแข็งในด้านเศรษฐกิจที่เป็นลำดับที่ 3 ของโลก และมีทำเลที่ได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินเชิงพาณิชย์ในภูมิภาคมานาน มีการกำหนดแผนงานสำหรับเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่ชัดเจนในบริเวณพื้นที่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi และมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ทั้งมาตรการด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ต่ำ ในขณะเดียวกันสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 2 ส่วนมาเลเซียอันดับ 18 ในขณะที่ประเทศที่น่าลงทุนด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์ทดสอบดาวเทียมของรัฐอยู่แห่งหนึ่ง คือ “ศูนย์ทดสอบและประกอบ ดาวเทียมแห่งชาติ”(National Assembly Integration and Test: AIT) ตั้งอยู่ ณ อุทยานรังสรรค์ นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ภายในศูนย์ฯจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์เพื่อการทดสอบดาวเทียมที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ห้องสะอาดควบคุมอนุภาค (Clean room), เครื่องทดสอบการต้านทานเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ (Thermal Cycle), เครื่องทดสอบหาคุณสมบัติเชิงมวลของดาวเทียม (Mass Properties Measurement), เครื่องทดสอบการสั่นสะเทือนของส่วนประกอบดาวเทียม (Vibration Test) และห้องทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ (Thermal Vacuum Chamber: TVAC)
จากโครงการศึกษาความสามารถในการแข่งขันธุรกิจและอุตสาหกรรมการทดสอบดาวเทียมของประเทศไทยกับภูมิภาคอาเซียน ในครั้งนี้พบว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการทดสอบที่สามารถทัดเทียมกับของมาเลเซียและอินโดนีเซียทั้งในเรื่องของมาตรฐานและประสิทธิภาพในการทดสอบชิ้นส่วนอากาศยานและดาวเทียม ถึงแม้อาจจะมีประเภทของเครื่องมือทดสอบที่น้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตามศูนย์ทดสอบดาวเทียมนี้ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ดัชนีการดึงดูด หรือ AMA index ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ เพราะเป็นตัวสร้างคะแนนมิติโครงสร้างพื้นฐาน คู่ไปกับคะแนนมิติอุตสาหกรรม